ประจำเดือนไม่มา เพราะอะไร ผิดปกติหรือไม่ ดูแลสุขภาพอย่างไรให้มาเป็นปกติ

ประจำเดือนไม่มา

ประจำเดือนไม่มา หรือประจำเดือนมาไม่ปกติ ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่สร้างความกังวลใจให้ผู้หญิงหลายคนไม่น้อย เพราะอาจเป็นสาเหตุหรือสัญญาณของปัญหาสุขภาพร้ายแรงบางอย่างได้ในอนาคต ถึงอย่างนั้น สาเหตุที่ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือมาน้อยในบางครั้งนั้น ก็อาจไม่ได้เกิดจากการเจ็บป่วยหนักเสมอไป 

ประจำเดือนไม่มา

Credit: Womanlog

ผู้หญิงจึงควรใส่ใจและทำความเข้าใจสุขภาวะและปัญหานี้ให้ละเอียด เพื่อให้รู้เท่าทันและดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงและถูกวิธี

ประเดือนไม่มา คืออะไร

ประจำเดือนไม่มา (Amenorrhea) หรือประจำเดือนมาไม่ปกติ คือปัญหาสุขภาพหนึ่งของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยผู้ที่ประจำเดือนขาดมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง อย่างน้อย 3 เดือน ขึ้นไป หรืออายุย่างเข้า 13 – 15 ปี แล้ว แต่ยังไม่มีระดู ถือว่าประสบภาวะดังกล่าว จำเป็นต้องพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยต่อไป

โดยทั่วไปแล้ว สาเหตุที่ประจำเดือนไม่มานั้นเกิดจากตั้งครรภ์ เข้าสู่วัยทอง ปัญหาเกี่ยวกับรังไข่ หรือใช้ยารักษาโรคบางอย่าง ซึ่งก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ประจำเดือนมาแบบปกติ เป็นกี่วัน

ประจำเดือนไม่มา มีอาการอย่างไร 

แน่นอนว่าปัญหาประจำเดือนไม่มาต้องก่อให้เกิดภาวะประจำเดือนขาด ประจำเดือนมาน้อย หรือประจำเดือนมาไม่ปกติ ถึงอย่างนั้น ก็ยังปรากฏอาการอื่นร่วมด้วย ได้แก่

  • ขนาดเต้านมไม่เต่ง
  • มีน้ำนมไหลออกมาจากหัวนม
  • ขนขึ้นตามใบหน้า
  • ผมร่วง
  • ปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน
  • ปวดหัว
  • สิวขึ้น
  • การมองเห็นผิดปกติไปจากเดิม

ประจำเดือนไม่มา เกิดจากอะไรได้บ้าง

Credit: Ppat Channel

ภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติสามารถแบ่งสาเหตุออกมาได้ 2 กรณี ได้แก่ กรณีที่ประจำเดือนไม่มาเมื่อเข้าวัยเจริญพันธุ์ และกรณีประจำเดือนไม่มาติดต่อกัน 3 เดือน ซึ่งทั้งสองกรณีมีรายละเอียดที่ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ดังนี้

ประจำเดือนไม่มา เมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์

กรณีนี้เรียกว่า Primary Amenorrhea หากเด็กแรกรุ่นเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ หรืออยู่ช่วงอายุ 13 – 15 ปี แต่ยังไม่มีประจำเดือนนั้น อาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้

ความผิดปกติของยีนหรือโครโมโซม ส่งผลต่อการทำงานของรังไข่ ทำให้ร่างกายไม่ตกไข่ออกมาตามปกติ เช่น ภาวะ Turner Syndrome ซึ่งทำลายโครโมโซม x (โครโมโซมเพศหญิง) บางส่วนหรือทั้งหมด กลุ่มอาการต่อต้านเอนโดรเจน (Androgen Insensitivity Syndrome) ซึ่งมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนสูง เป็นต้น

ปัญหาที่ต่อมใต้สมอง หรือไฮโปทาลามัสในสมอง ส่งผลให้ฮอร์โมนไม่สมดุล นำไปสู่ภาวะขาดประจำเดือน ซึ่งพฤติกรรมหรือปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อการทำงานของต่อมใต้สมองนั้นมีหลายอย่าง เช่น ปัญหาการกินผิดปกติ (Eating Disorders) ออกกำลังกายมากเกินไป ได้รับความกระทบกระเทือนรุนแรงทางร่างกายหรือจิตใจ เป็นต้น

ปัญหาสุขภาพอื่น ซึ่งมีโอกาสเกิดน้อยมาก ก็อาจเป็นสาเหตุประจำเดือนไม่มาในกรณีนี้ได้ เช่น ภาวะไม่มีหรือสูญเสียอวัยวะของระบบสืบพันธุ์ ภาวะทางเดินระบบสืบพันธุ์อุดตัน เป็นต้น 

ขอบคุณคลิปจาก soottigo

ประจำเดือนไม่มา ติดต่อ 3 เดือน

กรณีนี้เรียกว่า Secondary Amenorrhea ผู้หญิงที่ประจำเดือนมาตลอด แต่ประจำเดือนขาดหรือมาน้อยจนผิดปกติจะเข้าข่ายนี้ ซึ่งมีทั้งเกิดจากสาเหตุตามธรรมชาติ การใช้ยา และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ดังนี้

ภาวะธรรมชาติของร่างกาย ประกอบด้วยหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งครรภ์ อยู่ในช่วงให้นมลูก และเข้าสู่วัยทอง

การใช้ยาบางตัว ส่วนใหญ่แล้วการใช้ยาคุมกำเนิดในรูปแบบเม็ด ฉีด หรือใส่ห่วงคุมกำเนิด ส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติได้ ซึ่งประจำเดือนจะกลับมาตามปกติหลังหยุดใช้ยาคุมไปประมาณ 2 – 3 เดือน นอกจากนี้ การใช้ยาต้านเศร้าหรือยารักษาความดันจะเพิ่มระดับฮอร์โมนที่ยับยั้งการตกไข่ของร่างกาย

การทำคีโมและฉายรังสี ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ไขกระดูก น้ำเหลือง หรือมะเร็งปากมดลูก ที่เข้ารับการทำเคมีบำบัดหรือฉายรังสี จะประสบภาวะประจำเดือนไม่มาได้ เพราะเซลล์ที่ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนและไข่ในรังไข่ถูกทำลาย โดยอาจประจำเดือนไม่มาสักระยะหนึ่ง ส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้ป่วยหญิงอายุน้อย

แผลเนื้อเยื่อในมดลูก ซึ่งเกิดขึ้นที่ผนังมดลูกนั้น อาจส่งผลให้ประจำเดือนไม่มาได้ เพราะเยื่อบุมดลูกที่ก่อตัวขึ้นมาสำหรับรองรับในช่วงตกไข่ไม่สามารถลอกออกมาเป็นเลือดประจำเดือนได้ตามปกติ โดยผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาเนื้องอกในมดลูก ผ่าคลอด หรือขูดมดลูกจากการแท้งบุตร มักเกิดแผลนี้

ฮอร์โมนไม่สมดุล ซึ่งครอบคลุมปัญหาสุขภาพหลายอย่าง ได้แก่

  • ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome,PCOS) ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนสูงกว่าปกติเมื่อเทียบกับช่วงฮอร์โมนแปรปรวนทั่วไปตอนมีประจำเดือน 
  • ความผิดปกติของไทรอยด์ ไม่ว่าจะเป็นไฮโปไทรอยด์ (ไทรอยด์น้อยเกินไป) ไฮเปอร์ไทรอยด์ (ไทรอยด์มากเกินไป) อาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติได้
  • เนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง ส่งผลต่อการทำงานของฮอร์โมนที่ควบคุมรอบเดือนของผู้หญิง 
  • ภาวะวัยทองก่อนวัยอันควร โดยทั่วไปแล้ว ผู้หญิงจะเข้าสู่ช่วงวัยทองเมื่ออายุ 50 ปี แต่ผู้ที่เข้าวัยทองก่อนนั้น ร่างกายจะหยุดตกไข่เมื่ออายุ 40 ปี ส่งผลให้ประจำเดือนไม่มาได้เช่นกัน

พฤติกรรมและปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ได้แก่ น้ำหนักตัวน้อยกว่ามาตรฐาน เปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกายน้อยกว่าปกติ กินน้อยเกินไป เกิดความเครียด ออกกำลังกายมากและหนักเกินไป และขาดฮอร์โมนเลปติน

ภาวะแทรกซ้อนเมื่อประจำเดือนไม่มา

ภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติไม่เพียงบ่งชี้ปัญหาสุขภาพเท่านั้น แต่อาจก่อให้เกิดอาการหรือผลข้างเคียงได้หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาจากแพทย์อย่างถูกต้อง โดยภาวะแทรกซ้อนเมื่อประจำเดือนไม่มานั้น อาจทำให้ประสบภาวะมีบุตรยาก ฝหากร่างกายไม่ตกไข่และมีรอบเดือนตามปกติ

นอกจากนี้ อาจเสี่ยงเกิดภาวะกระดูกพรุนได้ เพราะผู้ที่ประจำเดือนไม่มาบางรายนั้น อาจมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ ซึ่งส่งผลทำให้เสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนได้ด้วย

การตรวจและวินิจฉัยประจำเดือนไม่มา

โดยทั่วไปแล้ว แพทย์จะซักถามประวัติและตรวจภายใน เพื่อดูว่าอวัยวะของระบบสืบพันธุ์เป็นปกติหรือไม่ รวมทั้งจะทำการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมตามสมควร ซึ่งแบ่งการตรวจวินิจฉัยสาเหตุได้ ดังนี้

ผลตรวจเลือด

แพทย์เจาะตรวจเลือด เพื่อนำมาตรวจหาสาเหตุของประจำเดือนไม่มาว่าเกิดจากการตั้งครรภ์ ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ รังไข่ทำงานผิดปกติ ระดับฮอร์โมนโพรแลคตินต่ำซึ่งบ่งชี้ภาวะเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง หรือระดับฮอร์โมนเพศชายมากกว่าปกติ

ตรวจฮอร์โมน

แพทย์จะฉีดฮอร์โมนให้ผู้ป่วยเป็นเวลา 7 – 10 วัน เพื่อให้ร่างกายขับประจำเดือนออกมา โดยผลตรวจนี้จะช่วยบ่งชี้ได้ว่าสาเหตุประจำเดือนไม่มาเกิดจากร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อยเกินไป

สแกนร่างกาย

แพทย์จะพิจารณาดูว่าจะให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจสแกนร่างกายด้วยเครื่องมือใดตามสมควร ซึ่งขึ้นอยู่กับสัญญาณหรืออาการร่วมอื่น ๆ และผลตรวจเลือด โดยวิธีสแกนร่างกายสำหรับวินิจฉัยภาวะประจำเดือนไม่มา ประกอบด้วย

อัลตร้าซาวน์ แพทย์จะฉายคลื่นความถี่ เพื่อให้แสดงภาพภายในร่างกาย โดยแพทย์ตรวจอัลตร้าซาวน์ให้กับเด็กที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์แล้วแต่ยังไม่มีประจำเดือน เพื่อดูว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับอวัยวะระบบสืบพันธุ์หรือไม่

ซีที สแกน แพทย์จะทำซีที สแกน เพื่อตรวจมดลูก รังไข่ และไต ของผู้ป่วย 

MRI แพทย์จะฉายคลื่นวิทยุที่มีแรงแม่เหล็กสูง เพื่อให้แสดงภาพเนื้อเยื่อภายในร่างกาย โดยแพทย์จะตรวจด้วยวิธีนี้ในกรณีที่ต้องการตรวจเนื้องอกในต่อมใต้สมอง

ส่องกล้องตรวจ

แพทย์จะสอดกล้องขนาดเล็กเข้าไปในช่องคลอดและคอมดลูก เพื่อตรวจภายในมดลูกของผู้ป่วย โดยวิธีนี้จะใช้ในกรณีที่ตรวจไม่พบสาเหตุด้วยวิธีอื่นแล้ว

วิธีรักษา ประจำเดือนไม่มา

การรักษาอาการประจำเดือนมาไม่ปกตินั้น แตกต่างกันไปตามสาเหตุของโรค ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยที่มีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพเป็นหลักจะได้รับการรักษาด้วยยาหรือการผ่าตัดตามดุลยพินิจของแพทย์ ดังนี้

รักษาด้วยยา

วิธีนี้ค่อนข้างปลอดภัย แต่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ ผู้ป่วยจึงต้องปรึกษาและสอบถามแพทย์ก่อนทุกครั้ง โดยยาที่ใช้รักษานั้น ประกอบด้วย

ยาคุมกำเนิด หรือยาควบคุมระดับฮอร์โมนอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยให้ประจำเดือนมาตามปกติเหมือนเดิม

ยารักษาถุงน้ำรังไข่ (PCOS) จะช่วยบรรเทาอาการของโรค รวมทั้งช่วยให้ตกไข่เป็นปกติ

ฮอร์โมนบำบัด การฉีดเอสโตรเจนจะช่วยให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายสมดุล กลับมามีประจำเดือนได้ตามปกติอีกครั้ง รวมทั้งลดความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนด้วย

ขอบคุณคลิปจาก Nicetomeetyou ประจำเดือนไม่มา , ประจำเดือนมาไม่ปกติ , ประจำเดือนมาไม่ตรงวัน |

รักษาด้วยการผ่าตัด

การผ่าตัดนั้นจะใช้รักษาสำหรับกรณีเฉพาะเท่านั้น โดยแพทย์จะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป ตามสมควร ดังนี้

ขูดมดลูก วิธีนี้จะใช้ในกรณีผ่าตัดเนื้อร้ายในมดลูกออกมา รวมทั้งขูดผนังมดลูกหลังผ่าคลอด หรือแท้ง ซึ่งการขจัดแผลเนื้อเยื่อในมดลูกออกมานั้นจะช่วยให้รอบเดือนกลับมาตามปกติได้ 

ผ่าเนื้องอก ใช้ในกรณีผ่าตัดเนื้องอกตรงต่อมใต้สมองที่ไม่ตอบสนองต่อยาแล้ว เพื่อไม่ให้ก้อนเนื้อขยายใหญ่และไปกดทับหลอดเลือดและเส้นประสาทที่อยู่รอบ ๆ แพทย์จะผ่าเอาก้อนเรื้ิอออกมาทางจมูกและไซนัส ซึ่งอาจมีการฉายรังสีให้ก้อนเนื้อเล็กลงร่วมด้วย

วิธีดูแลสุขภาพเมื่อประจำเดือนไม่มา

นอกจากปัญหาสุขภาพแล้ว ภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติอาจเกิดจากพฤติกรรมหรือปัจจัยภายนอกที่ควบคุมได้ หากสาเหตุที่ทำให้ขาดรอบเดือนเกิดจากพฤติกรรมการใข้ชีวิต ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการดูแลตัวเอง ตั้งแต่เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบถ้วนทางโภชนาการ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับให้เพียงพอ รวมทั้งหากิจกรรมผ่อนคลายอื่น ๆ ทำตามสมควร เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ประจำเดือนไม่มา

[Total: 1 Average: 5]