โรคซึมเศร้า คืออะไร ? อาการโรคซึมเศร้ามีอะไรบ้าง บทความนี้มีคำตอบ !

โรคซึมเศร้า คืออะไร

โรคซึมเศร้า

หากย้อนกลับไปเมื่อประมาณกลางเดือน ก.ค. สองปีที่แล้ว ข่าวการจากไปของร็อคสตาร์ระดับโลกอย่าง Chester Burnington นักร้องนำวง Linkin Park สร้างความสะเทือนใจให้แฟนเพลงสากลไม่น้อย ต่อมาช่วงปลายปีเดียวกันนั้น Jonghyun นักร้องฝั่งเคป๊อบวง Shinee ได้จากไปอย่างสงบในบ้านพักของตนเองที่เปิดแก๊สรมทิ้งไว้

ครึ่งปีหลังที่ผ่านมานี้ ก็ปรากฏข่าวการฆ่าตัวตายของคุณเหม นักแสดงหนุ่มวัย 30 ปี และเมื่อไม่นานนี้เอง กับการจากไปของซอลลี่ นักแสดงและอดีตสมาชิกวง f(x) ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลมาจาก โรคซึมเศร้า 

ไม่เพียงคนในแวดวงบันเทิงที่ประสบกับโรคนี้ แต่ปัจจุบัน โรคซึมเศร้ากำลังกลืนกินชีวิตผู้คนไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่และวัยรุ่นที่ต้องเผชิญและเสี่ยงป่วยเป็นโรคนี้กันมาก สถิติเมื่อปี 2560 พบว่า เยาวชนช่วงอายุ 20 – 25 ปี ป่วยเป็นซึมเศร้าและมีอัตราฆ่าตัวตายร้อยละ 4.94/ประชากรแสนคน และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.33/ประชากรแสนคน ในปี 2561

ล่าสุด มีผู้ใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 ทั้งสิ้น 40,635 ครั้ง โดยเป็นผู้ที่มีอายุ 11 – 25 ปี ที่ใช้บริการ คิดเป็น 13,658 ครั้ง

จะเห็นได้ว่าแนวโน้มการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และการพูดถึงเรื่องนี้มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีหลายคนที่ไม่เข้าใจโรคนี้อย่างถี่ถ้วนนัก ทั้งในแง่ของการปฏิบัติตัวกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า หรือแม้แต่รับมือเมื่อตัวเองป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเองก็ตาม

บทความนี้จะช่วยให้คุณได้รู้จักและทำความเข้าใจกับที่มาที่ไป รวมทั้งวิธีดูแลรักษาโรคซึมเศร้ามากขึ้น

ทำความรู้จักโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า คืออะไร ? จริง ๆ แล้ว อาการป่วยของโรคซึมเศร้านั้นแบ่งออกได้หลายประเภท โดยโรคซึมเศร้าที่สังคมมักพูดถึงกันและจะเน้นกล่าวถึงในบทวามนั้นคือโรคซึมเศร้าแบบเมเจอร์ ดีเพรสชั่น
โรคซึมเศร้า ภาษาอังกฤษ  >> (Major Depression)

Credit: News-medical

ประเภทของโรคซึมเศร้า
ประเภทของโรคซึมเศร้า

ประเภทของโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าแบบ Major Depression

คือ อาการของโรคซึมเศร้า จัดเป็นปัญหาสุขภาพจิตร้ายแรงชนิดหนึ่ง ซึ่งส่งผลต่อความรู้สึก ความคิด รวมทั้งวิธีมองโลกและการรับมือสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เช่น การนอนหลับ พฤติกรรมการกิน การทำงาน เป็นต้น ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าชนิดนี้จะได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยก็ต่อเมื่อมีอาการของโรคเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองสัปดาห์

นอกจากนี้ โรคซึมเศร้าประเภทอื่นอาจปรากฏอาการเฉพาะที่แตกต่างไปบ้างเล็กน้อย รวมทั้งเป็นผลพวงจากสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งจะยกมาอธิบายพอสังเขป พอให้ได้รู้จักและเป็นแนวทางไปข้อมูลเพิ่มเติมต่อไปในแต่ละประเภท

โรคซึมเศร้าแบบ Persistent Depressive Disorder

คือ อาการซึมเศร้าเรื้อรัง ซึ่งเกิดอาการมาไม่ต่ำกว่า 2 ปี โดยผู้ป่วยอาจป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแบบ Major Depression มานาน แต่อาการรุนแรงน้อยกว่า 

โรคซึมเศร้าแบบ Postpartum Depression

คือ อาการซึมเศร้าเมื่อให้กำเนิดบุตร ต่างจากสภาวะ Baby Blue หรืออาการซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งอาจมีอาการซึมเศร้าและวิตกกังวลอยู่บ้างภายใน 2 สัปดาห์หลังคลอด แต่ Postpartum Depression จะทำให้เกิดอาการซึมเศร้าแบบ Major Depression ตั้งแต่อุ้มท้องอยู่หรือหลังคลอด โดยจะรู้สึกเสียใจ กังวลใจ หรือโมโหร้ายอย่างสุดโต่ง ส่งผลให้คุณแม่มือใหม่ดูแลตัวเองและลูกได้ยาก

โรคซึมเศร้าแบบ Psychotic Depression

คือ อาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นร่วมกับโรคทางจิตเภทบางอย่าง เช่น อาการหลงผิด (Delusion) คิดหรือเชื่อไปเอง ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง หรืออาการหลอน (Hallucination) ได้ยินหรือมองเห็นสิ่งที่ผิดเพี้ยน บิดเบี้ยวไปจากความปกติ

โรคซึมเศร้าแบบ Seasonal Affective Disorder

คือ อาการซึมเศร้าอันเป็นผลพวงจากอากาศในช่วงหน้าหนาว ไม่ได้รับแสงแดดธรรมชาติอย่างเพียงพอ ทำให้บางครั้งเราอาจรู้สึกอยากแยกตัว นอนเยอะกว่าปกติ หรือน้ำหนักขึ้น โดยอาการซึมเศร้าประเภทนี้จะกลับมาเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดิมทุกปี

ไบโพลาร์ (Bipolar Disorder)

คือ ปัญหาสุขภาพจิตที่แตกต่างจากตัวโรคซึมเศร้า เพราะผู้ป่วยไบโพลาร์จะประสบภาวะอารมณ์ 2 ขั้ว ได้แก่ อารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติ (Mania) หรืออารมณ์ซึมเศร้าผิดปกติ (Depressed) โดยจะเกิดอาการซึมเศร้าแบบเดียวกับโรคซึมเศร้าแบบสุดโต่งและต่อเนื่อง

13 ข้อ เช็กอาการไบโพลาร์

โรคซึมเศร้าเกิดจากอะไร ?

แม้จะยังไม่ปรากฏสาเหตุหลักของโรคซึมเศร้าอย่างชัดเจน แต่งานวิจัยทางการแพทย์หลายชิ้นชี้ให้เห็นว่าโรคนี้มักเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสิ่งต่อไปนี้

ปัจจัยทางชีวภาพ

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสมอง ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการดังกล่าวขึ้นมาได้ อย่างไรก็ดี ยังระบุแน่ชัดไม่ได้ว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นคืออะไร

สารเคมีในสมอง

สมองของคนเรานั้นจะมีสารเคมีอย่างหนึ่ง เรียกว่า ‘สารสื่อประสาท’ ซึ่งทำหน้าที่กำกับอารมณ์ความรู้สึกให้เป็นไปตามปกติ หากสารสื่อประสาทสมองไม่สมดุลอันเกิดจากการทำงานผิดปกติของสมอง จะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการซึมเศร้าได้

สารเคมีในสมอง

ฮอร์โมน

หากฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง ไม่สมดุล ก็อาจเกี่ยวข้องหรือทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้เช่นกัน โดยสภาวะฮอร์โมนเปลี่ยนมักเกิดขึ้นกับผู้หญิงที่เพิ่งคลอดบุตร วัยทอง ผู้ที่มีปัญหาไทรอยด์ และโรคอื่น ๆ

พันธุกรรม

หากคนในครอบครัวหรือญาติใกล้ชิดมีประวัติการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ก็มีแนวโน้มที่คนรุ่นต่อมาจะป่วยเป็นโรคนี้ด้วย ทั้งนี้ นักวิจัยและคณะแพทย์ยังคงทำวิจัยเพื่อหาว่ายีนตัวไหนที่เกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดโรคซึมเศร้าอยู่

พันธุกรรม เป็นอีกหนึ่งสาเหตุโรคซึมเศร้า
พันธุกรรม เป็นอีกหนึ่งสาเหตุโรคซึมเศร้า

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่กระตุ้นให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ ดังนี้

บุคลิกภาพส่วนตัว

คนที่มีความเชื่อมั่นตัวเองต่ำ (Low Self-esteem) ต้องคอยพึ่งพาคนอื่นอยู่เสมอ หรือมองโลกในแง่ร้าย เสี่ยงป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้สูง

สภาพแวดล้อมรอบข้าง

การประสบพบเจอเหตุการณ์ที่กระทบความรู้สึกอย่างรุนแรงและกะทันหัน หรือการมีปฏิสัมพันธ์เชิงลบกับผู้คนรอบข้าง ก็ส่งผลให้เกิดอาการซึมเศร้าได้ ไม่ว่าจะเป็น…

ความสูญเสีย หรือการจากไปของบุคคล สิ่งของ หรือสัตว์เลี้ยง เพราะเหตุการณ์เหล่านี้ล้วนกระทบจิตใจเป็นอย่างมาก จนนำไปสู่อาการซึมเศร้าอย่างความรู้สึกผิดหรือตัวเองไร้ค่าที่ไม่สามารถช่วยหรือทำอะไรได้ โทษตัวเอง หรือแม้กระทั่งคิดฆ่าตัวตาย

ความขุ่นข้องหมองใจ หากทะเลาะกัน ไม่ลงรอยกัน ไม่เข้าใจกัน ไม่ได้รับการยอมรับ หรือเกิดเรื่องขัดแย้งกับคนภายในครอบครัว เพื่อน ที่ทำงาน อยู่บ่อยครั้ง และไม่สามารถแก้ปัญหานั้นได้ นานวันเข้าปมเหล่านี้จะสร้างอารมณ์และความคิดเชิงลบจนนำไปสู่โรคซึมเศร้า

การถูกรังแก บูลลี่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย ความรุนแรงทางเพศ การกลั่นแกล้งที่ส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึก ทั้งที่เกิดขึ้นในอดีตหรือปัจจุบัน ย่อมทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ไม่ยาก

เหตุการณ์อื่น ๆ ที่กระทบใจอย่างรุนแรง หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตอย่างกะทันหัน เช่น ตกงาน หย่าร้าง ถูกไล่ออก มีลูก เป็นต้น

อาการป่วยต่าง ๆ 

ปัญหาสุขภาพบางอย่างอาจทำให้เกิดอาการซึมเศร้าร่วมด้วย เช่น ปัญหาการนอนหลับ โรคเรื้อรังต่าง ๆ ความวิตกกังวล โรคสมาธิสั้น โรคเกี่ยวกับการกิน (Eating Disorder) PTSD เป็นต้น

ยารักษาโรคบางตัว

ผู้ป่วยที่ได้รับยารักษาโรคบางอย่างอาจได้รับผลข้างเคียง เกิดอาการซึมเศร้าได้ เช่น ยาลดความดัน ยานอนหลับบางชนิด เป็นต้น ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับผลข้างเคียงจากการใช้ยานั้น ๆ หรือขอเปลี่ยนเป็นยาตัวอื่นแทน

การใช้สารเสพติด

ผู้ใช้สารเสพติดและดื่มแอลกอฮอล์มักเกิดอาการซึมเศร้า ซึ่งมีมากเกือบร้อยละ 30 โดยบางคนจะใช้สารเสพติดเพื่อระบายความเครียดหรือเมื่อรู้สึกดาวน์ 

ปัจจัยอื่น ๆ

นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วนั้น การแยกตัวบ่อย ๆ อันเป็นผลจากอาการป่วย หรือถูกแบ่งแยก ตัดขาดจากครอบครัว กลุ่มเพื่อน ก็นำไปสู่ภาวะป่วยโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน

อาการของโรคซึมเศร้า

ผู้ป่วยแต่ละคนจะแสดงอาการโรคซึมเศร้าแตกต่างกันไป บางคนอาจเกิดอาการบางอย่าง บางคนอาจเกิดอาการหลายอย่าง ความรุนแรง ความถี่ และระยะเวลาที่เกิดอาการนั้นก็ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล อาการป่วยอื่น ๆ รวมทั้งระดับขั้นของโรคว่าป่วยมากน้อยแค่ไหน ส่วนมาก โรคซึมเศร้าอาการ จะออกมาเป็นแบบนี้ส่วนใหญ่

Credit: Medlife

โดยทั่วไปแล้ว อาการของโรคซึมเศร้าจะส่งผลต่อระบบความคิดและการแสดงออก ซึ่งจะแบ่งออกเป็นสัญญาณทางความคิดและความรู้สึก และสัญญาณทางกาย ดังนี้

สัญญาณทางความคิดและความรู้สึก

  • เศร้า วิตกกังวล หรือเกิดอารมณ์ว่างเปล่าอยู่เสมอ
  • รู้สึกสิ้นหวัง มองโลกในแง่ร้าย
  • หงุดหงิด โมโหร้ายกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ
  • รู้สึกผิดกับตัวเอง ชอบโทษตัวเอง รู้สึกไร้ค่า กับความผิดพลาดในอดีต
  • เบื่อหน่ายเรื่องที่เคยชอบหรือกิจกรรมปกติในชีวิตประจำวัน เช่น งานอดิเรก เซ็กส์ กีฬาที่ชอบ เป็นต้น
  • มีปัญหาเรื่องความจำและการตัดสินใจ
  • คิดอยากจะฆ่าตัวตายอยู่บ่อย ๆ

สัญญาณทางกาย

  • เหนื่อยล้า ไม่มีแรง แม้จะทำอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็รู้สึกต้องใช้พลังเป็นอย่างมาก
  • เคลื่อนไหวเฉื่อยชา หรือพูดช้ากว่าปกติ
  • ไม่มีสมาธิจดจ่อ อยู่นิ่งไม่ได้
  • หลับยาก ตื่นเช้าเกินไป หรือนอนเยอะเกินไป
  • อาการอยากอาหารและน้ำหนักเปลี่ยนแปลง บ้างก็เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง บ้างก็กินเยอะกว่าปกติ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  • เกิดอาการไม่สบาย เจ็บปวด ตะคริว หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารโดยหาสาเหตุไม่ได้ หรืออาการดังกล่าวไม่ทุเลาลงเลยแม้จะรับการรักษาแล้ว
  • พยายามฆ่าตัวตายหรือกระทำการฆ่าตัวตายอยู่บ่อย ๆ

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าถือเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยและคนรอบข้างเป็นอย่างมาก หากปล่อยไว้ ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ย่อมส่งผลให้อาการของโรคแย่ลง ทั้งทางความคิด พฤติกรรม และสุขภาพอื่น ๆ ซึ่งกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคซึมเศร้านั้น อาจก่อให้เกิดอาการหรือพฤติกรรมต่อไปนี้ 

  • ภาวะอ้วนหรือน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ซึ่งนำไปสู่โรคหัวใจและเบาหวานได้
  • ปัญหาสุขภาพทางกาย ไม่สบายต่าง ๆ
  • พฤติกรรมใช้ยา สารเสพติด หรือแอลกอฮอล์
  • อาการวิตกกังวล แพนิค หรือกลัวสังคม
  • ปมขัดแย้งหรือความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน และคนรอบข้างในชีวิต
  • ภาวะแยกตัวจากสังคมภายนอก
  • ความคิดหรือพฤติกรรมฆ่าตัวตายและทำร้ายตัวเอง
  • การเสียชีวิตจากการใช้ยาผิดหรือเกินขนาด

ประเมินโรคซึมเศร้าด้วยตัวเอง

ปัจจุบันเรามักเห็นแบบทดสอบประเมินสุขภาพจิตที่ช่วยกรองและประเมินผลว่าเรามีระดับความเสี่ยงป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากน้อยแค่ไหน หากต้องการทราบเบื้องต้นว่าตัวเองเข้าข่ายป่วยเป็นโรคดังกล่าวหรือไม่ ควรทำแบบทดสอบสุขภาพจิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน 

ผู้ที่ต้องการประเมินตนเองก่อน สามารถทำแบบทดสอบ Mood-Self Assessment ของระบบดูแลสุขภาพแห่งชาติ (National Healthcare Service, NHS) โดยคลิกที่นี่ หรือทำทดสอบภาวะซึมเศร้า PHQ-9 ซึ่งจัดทำโดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ขอบคุณข้อมูลจาก Startyourway Official

การวินิจฉัยโรคซึมเศร้า

หากรู้สึกว่าตัวเองมีอาการหรือเข้าข่ายป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยต่อไป เพื่อให้ได้ผลการวินิจฉัยทางการแพทย์และรับการรักษาอย่างถูกต้อง โดยทั่วไปแล้ว แพทย์จะตรวจและวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โดยอิงข้อมูลต่อไปนี้

ผลตรวจร่างกาย

แพทย์จะตรวจร่างกาย และถามคำถามเกี่ยวกับสุขภาพทั่วไป เพื่อดูว่ามีพฤติกรรมหรือปัญหาสุขภาพอื่น ซึ่งอาจเกี่ยวข้องหรือเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคซึมเศร้าหรือไม่

ผลตรวจสารเคมีและฮอร์โมนต่าง ๆ

แพทย์อาจเก็บตัวอย่างเลือดสำหรับทำการตรวจนับเม็ดเลือดอย่างสมบูรณ์ (Complete Blood Count, CBC) หรือตรวจฮอร์โมนไทรอยด์ เพื่อดูว่ายังทำงานเป็นปกติหรือไม่

กาทดสอบทางจิตเวช

การทดสอบทางจิตเวช หรือ Psychiatric Evaluation จะใช้ทดสอบว่ามีอาการของโรคทางจิตเวชหรือไม่ โดยจิตแพทย์จะสอบถามอาการ ความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งให้ทำแบบทดสอบประเมินผล เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจน

DSM-5

จิตแพทย์จะใช้เกณฑ์วัดโรคซึมเศร้า อิงตามหลักการวินิจฉัยของ DSM-5 (Diagnosis and Statistical Manual of Mental Disorders) ซึ่งจัดทำโดยสมาคมจิตเวชอเมริกัน (American Psychiatric Association)

การรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

ส่วนใหญ่แล้ว วิธีรักษาโรคซึมเศร้าจะใช้ยาต้านเศร้าและการบำบัด โดยแพทย์จะพิจารณาให้รักษาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือรักษาควบคู่กัน กรณีผู้ป่วยซึมเศร้าเกิดอาการของโรครุนแรง จำเป็นต้องพักในโรงพยาบาล เพื่อเข้ารับการรักษาตามโปรแกรมที่วางไว้

วิธีรักษาโรคซึมเศร้าแต่ละแบบ มีรายละเอียด ดังนี้

ยาต้านเศร้า

ยาต้านเศร้า (Antidepressants) จะช่วยปรับระดับสารเคมีในสมองให้สมดุล ส่งผลให้ควบคุมอารมณ์และความเครียดได้เป็นปกติ การรักษาด้วยยาต้านเศร้าจำเป็นต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ โดยยานี้มีหลายชนิด ก่อนจะตัดสินใจสั่งจ่ายยาต้านเศร้าตัวใดให้นั้น ผู้ป่วยอาจต้องลองใช้จริงหลายตัว หากคนในครอบครัวเคยใช้ยาต้านเศร้ารักษาโรคตัวใดมาก่อน แพทย์ก็จะนำมาวิเคราะห์ในการสั่งจ่ายยาร่วมด้วย ส่วนผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์หรือวางแผนมีบุตรควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยา เพราะอาจส่งผลต่อทารกได้

โดยทั่วไปแล้ว มักใช้เวลา 2-4 สัปดาห์ ถึงจะเห็นผลในการรักษา ผู้ป่วยควรรับยาอย่างต่อเนื่อง เริ่มแรกของการใช้ยาหรือปรับเปลี่ยน dose อาจส่งผลข้างเคียง ทำให้รู้สึกดาวน์ เกิดอาการอยากฆ่าตัวตายได้ คนรอบข้างจึงควรดูแลอย่างใกล้ชิด พร้อมกับปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยา ที่สำคัญ ไม่ควรหยุดยาเองทันที เพราะจะทำให้อาการของโรคแย่ลง หากต้องการหยุดยา ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อค่อย ๆ ลดปริมาณลงอย่างเหมาะสม ซึ่งมักหยุดยาหลังเทคยาไปแล้วประมาณ 6-12 เดือน

ยารักษาโรคซึมเศร้า
ยารักษาโรคซึมเศร้า

ยาต้านโรคซึมเศร้าที่ใช้รักษานั้น มีดังนี้

Selective Serotonin Reuptake Inhibitors (SSRIs) ช่วยเพิ่มระดับเซโรโทนิน ทำให้บรรเทาอาการซึมเศร้า วิตกกังวล และแพนิคได้ เป็นยาต้านเศร้าที่แพทย์มักสั่งจ่ายให้เป็นตัวแรก ๆ เพราะก่อให้เกิดผลข้างเคียงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับยาตัวอื่น ยาต้านเศร้ากลุ่มนี้ประกอบด้วย  ไซตาโลแพรม (Citalopram) เอสซิตาโลแพรม (Escitalopram) ฟลูอ็อกซิทีน (Fluoxetine) พาร็อกซิทีน (Paroxetine) เซอร์ทราลีน (Sertraline) และวิลาโซโดน (Vilazodone)

Serotonin-Norepinephrine Reuptake Inhibitors (SNRIs) ช่วยเพิ่มระดับเซโรโทนินและนอร์พิเอฟรินในสมอง ทำให้อารมณ์ดีและกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น ยากลุ่มนี้ประกอบด้วย ดูล็อกซิทีน (Duloxetine) เวนลาฟาซีน (Venlafaxine) เดสเวนลาฟาซีน (Desvenlafaxine) และลีโวมินาซิแพรน (Levomilnacipran)

Atypical antidepressants คือกลุ่มยาต้านเศร้าเบ็ดเตล็ด ไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มใดเป็นพิเศษ ประกอบด้วย บูโพรพิออน (Bupropion) เมอร์เทซาปีน (Mirtazapine) เนฟาโซโดน (Nefazodone) ทราโซโดน (Trazodone) และวอร์ติอ็อกเซทีน (Vortioxetine)

Tricyclic antidepressants ยากลุ่มนี้ใช้รักษาอาการป่วยหลากหลาย ทั้งโรคซึมเศร้า แพนิค และงูสวัด ก่อผลข้างเคียงรุนแรงกว่ายาต้านเศร้ากลุ่มอื่น แพทย์จะสั่งจ่ายให้กรณีที่ใช้ยากลุ่ม SNRIs ไม่ได้ผล ไม่ค่อยสั่งจ่ายให้ทั่วไป โดยยากลุ่มนี้ประกอบด้วย อิมิพรามีน (imipramine) นอร์ทริปไทลีน (Nortriptyline) อะมีทริปไทลีน (Amitriptyline) ด็อกเซปิน (Doxepin) ไตรมิพรามีน (Trimipramine) เดซิพรามีน (Desipramine) และโพรทริปไตรลีน (Protriptyline)

Monoamine Oxidase Inhibitors (MAOIs) จะก่อผลข้างเคียงรุนแรงมาก แพทย์จะสั่งจ่ายกรณีที่ใช้ยาอื่นไม่ได้ผลแล้วจริง ๆ ผู้ป่วยต้องเลี่ยงอาหารบางอย่าง เพื่อไม่ให้เกิด effect ร้ายแรงตามมา เช่น ชีส ไวน์ ยาบางอย่าง อาหารเสริมสมุนไพร เป็นต้น ยากลุ่มนี้ประกอบด้วย ทรานินไซโปรมีน (Tranylcypromine) ฟีเนลซีน (Phenelzine) และไอโซคาร์บอกซาซิด (Isocarboxazid)

ยาอื่น ๆ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาอื่น ๆ ให้ใช้ร่วมกับยาต้านเศร้า เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษายิ่งขึ้น โดยอาจให้ผู้ป่วยใช้ยาต้านเศร้าร่วมกัน 2 ตัว เช่น ยาควบคุมอารมณ์ (Mood Stabilizers)  ยาต้านอาการจิตเวช (Antipsychotics) ทั้งนี้ แพทย์อาจให้ใช้ยาต้านอาการวิตกกังวลและสารกระตุ้นอื่น ๆ ควบคู่เป็นระยะเวลาสั้น ๆ

จิตบำบัด

จิตบำบัดคือการพูดคุย ปลดปล่อย และรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ นักบำบัด หรือนักจิตวิทยามืออาชีพ โดยการทำจิตบำบัดโรคซึมเศร้านั้น มีหลายประเภทแตกต่างกันไป เช่น การบำบัดความคิดและพฤติกรรม หรือ CBT (Cognitive Behavioral Therapy) จิตบำบัดสัมพันธภาพระหว่างบุคคล (Interpersonal Therapy) ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้แนะนำวิธีบำบัดที่เหมาะสมให้ 

การทำจิตบำบัดส่งผลให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้รับประโยชน์มากมาย โดยช่วยให้ผู้ป่วย

  • ปรับตัวและรับมือกับเรื่องยาก ๆ ที่เกิดขึ้นได้
  • เผยความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรมแง่ลบ เพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง
  • ทบทวนความสัมพันธ์กับคนรอบข้างและเรื่องที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องและสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อไป
  • รู้จักแก้ไขปัญหาอย่่างเป็นระบบ
  • ค้นพบสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการซึมเศร้า เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีขึ้น ไม่ทำให้อาการแย่ลง
  • เกิดความรู้สึกเชิงบวกมากขึ้น เพื่อลดอาการซึมเศร้า สิ้นหวัง และอารมณ์โกรธต่าง ๆ
  • เรียนรู้ที่จะตั้งเป้าหมายในชีวิตตัวเอง
  • ฝึกความอดทนมากขึ้น เพื่อรับแรงกดดันในชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ

การรักษาในโรงพยาบาล

กรณีผู้ป่วยเกิดอาการรุนแรงมาก จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของตนเองและผู้คนรอบข้าง พยายามฆ่าตัวตาย ทำร้ายร่างกายตัวเองหรือผู้อื่น ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อรับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งรักษาอาการตามโปรแกรมที่วางไว้ 

นอกจากนี้ เคสที่มีอาการรุนแรงจะได้รับการรักษาด้วยวิธีต่อไปนี้ร่วมด้วย

Electroconvulsive Therapy (ECT)  คือการรักษาด้วยไฟฟ้า โดยแพทย์จะปล่อยกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ ไปยังสมอง เพื่อกระตุ้นการทำงานและสารสื่อประสาทข้างใน ทำให้อาการซึมเศร้าทุเลาลง แพทย์จะรักษาด้วยวิธีนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีอาการดีขึ้นจากการรักษาด้วยยา ไม่สามารถใช้ยาต้านเศร้าได้อันเนื่องมาจากปัญหาสุขภาพ หรือเสี่ยงฆ่าตัวตายสูง  

Transcranial Magnetic Stimulation (TMS) คือการรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า โดยแพทย์จะปล่อยคลื่นดังกล่่าวเข้าไปกระตุ้นเซลล์ประสาทในสมองส่วนที่ควบคุมการทำงานของอารมณ์และอาการซึมเศร้า ผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยาต้านเศร้าจะได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้

วิธีรับมือกับโรคซึมเศร้า

นอกจากเข้ารับการรักษากับแพทย์อย่างถูกต้องแล้ว ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าก็เตรียมตัวและรับมือกับอาการป่วยได้ โดยปฏิบัติ ดังนี้

รับการรักษาต่อเนื่อง

ควรพบแพทย์ตามนัดหมายเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดรับการรักษาหรือไม่ไปพบแพทย์ตามนัดหมาย เพราะจะทำให้อาการกลับมาแย่ลงได้ ที่สำคัญ ต้องเข้าใจว่าการรักษาโรคซึมเศร้านั้นต้องใช้เวลาพอสมควร จึงจะเห็นผล

ศึกษาทุกเรื่องของโรค

การศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า จะช่วยให้เข้าใจตัวโรคและแนวทางการรักษามากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยอยากเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ครอบครัวและคนใกล้ชิดก็ควรทำความเข้าใจโรคนี้ด้วย เพื่อช่วยดูแลและคอยเป็นกำลังใจให้กับผู้ป่วยต่อไป

หมั่นสังเกตอาการ

ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์และนักจิตบำบัดอย่างใกล้ชิด เพื่อเฝ้าระวังอาการแฝงของโรค รวมทั้งเตรียมวิธีรับมือหากเกิดอาการกำเริบขึ้นมา นอกจากนี้ ควรพบแพทย์หรือติดต่อนักจิตบำบัดโดยด่วนกรณีที่ปรากฏอาการขึ้นมาแล้ว

เลี่ยงแอลกอฮอล์และสารเสพติด

แอลกอฮอล์และสารเสพติดต่าง ๆ จะส่งผลต่ออาการซึมเศร้าทีละน้อยในระยะยาว ซึ่งจะทำให้อาการแย่ลงได้ในผู้ป่วยโรคนี้ หากต้องการเลิกใช้สารเสพติดหรือแอลกอฮอล์ อาจปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมได้

ใส่ใจตัวเอง

ดูแลตัวเองมากขึ้น โดยเลือกรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายหรือออกกำลังกายสม่ำเสมอ หางานอดิเรกอื่น ๆ ทำยามว่าง และนอนหลับให้เพียงพอ 

วิธีป้องกันโรคซึมเศร้า

แม้โรคซึมเศร้าจะยังไม่มีวิธีป้องกันที่แน่ชัด แต่ก็สามารถปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมบางอย่างที่ควบคุมให้เกิดปัจจัยเสี่ยง อันนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้ โดยปฏิบัติ ดังนี้

  • ผ่อนคลายความเครียด โดยหากิจกรรมหรืองานอดิเรกทำยามว่าง เพื่อไม่ให้หมกมุ่นอยู่กับปัญหาหรือเรื่องที่ทำให้คิดมากมากเกินไป 
  • เลี่ยงการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น เพื่อไม่ให้เกิดความรู้เชิงลบกับตัวเอง
  • หาคนที่ไว้ใจไว้คอยระบายหรือขอคำปรึกษาเมื่อเจอปัญหาที่แก้ไม่ได้หรือคิดไม่ตก
  • ควรพบแพทย์ทันทีหากพบว่าตัวเองมีอาการหรือเข้าข่ายป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หากยิ่งรักษาเร็ว ก็มีโอกาสหายได้สูง แต่หากปล่อยไว้นาน อาการจะยิ่งแย่ลง
  • เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรค

 

ขอบคุณข้อมูลจาก MinuteVideos Thailand | THE STANDARD